ฟ้าทะลายโจร: การนำไปใช้และข้อควรระวัง
ฟ้าทะลายโจร: การนำไปใช้และข้อควรระวัง
ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI), สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (CGI)
และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา
ถึงเวลานี้ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักฟ้าทะลายโจร สมุนไพรที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคหวัดและท้องเสีย ชื่อนี้เป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทยขึ้นมา เมื่อมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปทั่วโลก และฟ้าทะลายโจรได้ถูกนำมาใช้ในการทดสอบกับไวรัส COVID-19 แต่ยังเป็นเพียงผลการทดลองในหลอดทดลองเท่านั้น ส่วนการทดลองในการนำไปใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อนี้นั้นยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ก็มีการพูดถึงการนำฟ้าทะลายโจรไปใช้ทั้งในการป้องกันและรักษาอย่างมากมาย มีทั้งข่าวจริงและข่าวไม่จริงบ้าง และก็ทำให้คนแห่ซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเป็นอย่างมาก จนเกิดการขาดแคลนหรือมีราคาสูงขึ้น ในฐานะทีมวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรมาเป็นเวลานาน โดยเริ่มการศึกษาตั้งแต่การปลูกต้นฟ้าทะลายโจร การตรวจวิเคราะห์สารสำคัญทางเคมีในพืชระยะต่างๆ การพัฒนาวิธีการแยกสารบริสุทธิ์และเตรียมสารสกัดมาตรฐานของฟ้าทะลายโจรที่มีสารสำคัญตามที่ต้องการ การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจร รวมทั้งการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของการรับประทานผงฟ้าทะลายโจรแคปซูลในอาสาสมัครสุขภาพดี เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสารสำคัญที่มีฤทธ์ในทางยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงอยากจะมาแชร์ข้อมูลงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการนำฟ้าทะลายโจรไปใช้ในทางยา รวมทั้งข้อพึงระวังจากการใช้ยา โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อจะได้มีการนำไปใช้อย่างระมัดระวังและทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รูปที่ 1. ต้นฟ้าทะลายโจร ฟ้าทะลายโจร (รูปที่ 1) เป็นไม้ล้มลุก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata Wall ex Ness. จัดอยู่ในวงศ์ Acanthaceae ฟ้าทะลายโจรจัดเป็นสมุนไพรท้องถิ่นในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย จีน มาเลเซีย และไทย เป็นต้น โดยนิยมนำส่วนของใบและลำต้นมาใช้เป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ สำหรับประเทศไทยฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยาแผนไทยและได้บรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 และประกาศครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2549 โดยกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในหมวดหมู่ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ มีการกำหนดข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ บรรเทาอาการเจ็บคอและอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล เป็นต้น ขนาดรับประทานสำหรับบรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ คือ ครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 4 ครั้ง โดยใช้เป็นแคปซูล/ยาเม็ด/ยาเม็ดลูกกลอน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผลิตจากโรงงานผลิตยาสมุนไพรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์จากชุมชน (OTOP) หรือการผลิตใช้ภายในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเอง โดยผลิตภัณฑ์นี้จะอยู่ในรูปแบบผงสมุนไพรบดละเอียดบรรจุแคปซูลขนาดต่างๆกัน (300-500 มิลลิกรัม) หรืออยู่ในรูปแบบสารสกัดฟ้าทะลายโจร (ขนาด 300-500 มิลลิกรัม) ซึ่งการนำไปใช้ในการรักษาโรคก็จะมีคำแนะนำในการรับประทานที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีปริมาณตัวยาแตกต่างกัน วัตถุดิบฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้ในการเตรียมผลิตภัณฑ์นี้ ก็จะมาจากหลายแหล่ง บางที่มีการใช้ทั้งส่วนใบและต้น บางที่ใช้เฉพาะส่วนใบเท่านั้น จึงทำให้การนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้ จะมีความแปรปรวนของสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคเป็นอย่างมาก ดังนั้นแต่ละผลิตภัณฑ์จึงมีคำแนะนำในการรับประทานในปริมาณที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆมีผลในการรักษาโรค
สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในทางยาของฟ้าทะลายโจร คือ สารกลุ่ม Diterpene lactones ได้แก่ สารแอนโดร กราโฟไลด์ (Andrographolide; AP1) ดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide; AP3) นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide; AP4) ดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide; AP6) เป็นต้น (รูปที่ 2) รูปที่ 2. สูตรโครงสร้างของสารสำคัญที่พบในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรกับการนำไปใช้ในทางยาสำหรับผลงานการวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ในรายละเอียดสามารถอ่านได้จากบทความน่ารู้ เรื่อง ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata): ข้อมูลวิชาการที่น่ารู้ ในเว็ปไซต์ของศูนย์ฯ นี้ ซึ่งได้เขียนรวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ไว้ในหลากหลายแง่มุมและงานวิจัยเหล่านี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่วันนี้เมื่อมีการนำฟ้าทะลายโจรไปใช้ในการรักษาโรคมากขึ้น เนื่องจากจัดได้ว่าเป็นยาที่ได้จากธรรมชาติ (สมุนไพร) ไม่ใช่ยาสังเคราะห์ ดังนั้นน่าจะมีความปลอดภัยมากกว่า (จริงหรือไม่?) ผู้เขียนจึงอยากจะเน้นไปที่ข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับผลการศึกษาปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรต่างๆที่มีจำหน่ายในท้องตลาด การศึกษาเกี่ยวกับเภสัชจลนศาสตร์หรือการเปลี่ยนแปลงของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งข้อพึงระวังจากการใช้ฟ้าทะลายโจรที่ได้มีการรายงานไว้ก่อนหน้านี้ 1. การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณของสารสำคัญชนิดต่างๆในฟ้าทะลายโจร โดยการใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) โดยเริ่มแรกสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรได้ 3 ชนิด ได้แก่ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide-AP1), ดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide-AP3) และนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide-AP4) โดยใช้เมทธานอลเป็นตัวทำละลายในการสกัด ซึ่งวิธีวิเคราะห์นี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Phytochemical Analysis ในปี พ.ศ. 2547 โดย Pholphana et al.1 เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดนี้ได้จากการฉีดสารตัวอย่างเพียงครั้งเดียว และในปี พ.ศ. 2556 สถาบันฯสามารถที่จะแยกสารบริสุทธิ์จากฟ้าทะลายโจรได้อีก 1 ชนิด คือ สารดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide-AP6) ซึ่งเป็นสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งในฟ้าทะลายโจร และได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากเดิม ทำให้สามารถแยกสารสำคัญทั้ง 4 ชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น รูปแบบสารสำคัญในตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ดังแสดงในรูปที่ 3 วิธีการตรวจวิเคราะห์นี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Chinese Medicine2 รูปที่ 3. รูปแบบสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ตรวจวิเคราะห์โดยใช้เทคนิค HPLC-DAD จากนั้นได้มีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรยี่ห้อต่างๆที่จำหน่ายในท้องตลาดมาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด พบว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้มีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดในผลิตภัณฑ์มาก (รูปที่ 4) แต่ทุกผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรจะมีสาร andrographolide (AP1) สูงที่สุด รองลงมา คือ 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) ในขณะที่มีสาร neoandrographolide (AP4) ต่ำที่สุด รูปที่ 4. ความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีขายในท้องตลาด จากรูปที่ 4 จะเห็นว่า ถ้าต้องการนำผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้ไปใช้ในการลดไข้ แก้เจ็บคอ หรือรักษาอาการไข้หวัด ซึ่งต้องการปริมาณสารสำคัญ andrographolide ในปริมาณสูง ตัวอย่างที่ 13, 01 หรือ 03 อาจจะได้ผลในการรักษาที่ดีกว่าตัวอย่างที่ 12 หรือ 17 ที่มีปริมาณสารชนิดนี้น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับปริมาณผงยาที่บรรจุแคปซูลหรือคำแนะนำในการรับประทานยาด้วย เช่น ถ้าใช้ตัวอย่างที่ 13 เพียง 1 แคปซูล อาจจะต้องใช้ตัวอย่างที่ 17 จำนวนถึง 4-5 แคปซูล (ปริมาณผงยาในแคปซูลเท่ากัน) เพื่อให้ได้ปริมาณสาร andrographolide เท่ากัน ซึ่งคำแนะนำในการรับประทานฟ้าทะลายโจรตามที่ระบุในฉลากก็จะมีตั้งแต่ 1 เม็ด ถึง 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีปริมาณสารสำคัญน้อย เราก็จะต้องรับประทานจำนวนหลายแคปซูลต่อมื้อ เพื่อให้ได้ปริมาณสารออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาโรค นอกจากนี้ยังพบว่า มีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรบางตัวอย่าง มีปริมาณสาร 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) สูงมาก เช่น ตัวอย่างที่ 01, 08, 15 และ 17 เป็นต้น สารชนิดนี้ในฟ้าทะลายโจรมีความสำคัญอย่างไร? จากผลการศึกษาวิจัยของสถาบันฯซึ่งได้ทำการทดสอบฤทธิ์ของสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด (AP1, AP3, AP4) รวมทั้งสารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วย Thrombin ในหลอดทดลอง พบว่า สาร AP3 มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีกว่าสาร AP1 ในขณะที่สาร AP4 ไม่มีผล และสารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีด้วยเช่นกัน (ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ European Journal of Pharmacology ในปี พ.ศ. 2549 โดย Thisoda et al.3) สถาบันฯได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิดนี้ รวมทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจในสัตว์ทดลอง เนื่องจากมีรายงานว่า สาร AP3 มีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดี ผลการทดลอง พบว่า สาร AP3 มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดและลดอัตราการเต้นของหัวใจได้ดีที่สุด รวมทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร AP3 สูง ก็จะมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดีกว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร AP3 น้อยกว่า (ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Planta Medica ในปี พ.ศ. 2550 โดย Yoopan et al.4) จากผลการวิจัยนี้บ่งชี้เตือนหรือเป็นข้อพึงระวังของการใช้ฟ้าทะลายโจรได้ว่า ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญ AP3 สูง อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการความดันเลือดต่ำ หรือเกิดภาวะเลือดออกหยุดยาก ซึ่งคำเตือนที่ระบุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) และควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือด เพราะอาจจะเสริมฤทธิ์กันได้ ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร AP3 สูง เช่น ตัวอย่าง 01 หรือ 08 (รูปที่ 4) อาจจะทำให้เกิดอาการความดันต่ำ หรือหน้ามืดได้ รูปที่ 5. ปริมาณสารสำคัญ 4 ชนิด ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่ผลิตโดยโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้ สถาบันฯยังได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ผลิตโดยโรงพยาบาลต่างๆ จำนวน 9 ตัวอย่าง (จากงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ) มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ (เพิ่มการวิเคราะห์สารดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ หรือ 14-Deoxyandrographolide – AP6 อีก 1 ชนิด) ซึ่งผลที่ได้พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยปริมาณสาร AP1 มีค่าตั้งแต่ 7.39 มิลลิกรัมต่อกรัม (AP52) ถึง 44.98 มิลลิกรัมต่อกรัม (AP51) (รูปที่ 5) และที่น่าสนใจ คือ ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร AP52 เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณสาร AP3 สูงกว่า AP1 ดังนั้นถ้าผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์นี้มาใช้ในการรักษาโรคหวัด เจ็บคอ อาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ความดันเลือดลดลงมาก และการรักษาโรคหวัดอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ถ้านำผลิตภัณฑ์นี้ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยความดันเลือดสูง อาจจะให้ผลในการรักษาที่ดีกว่าก็ได้ เมื่อเห็นความแปรปรวนของสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว เราก็คงมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วฟ้าทะลายโจรที่ผลิตมาในแต่ละครั้งของการผลิตที่แตกต่างกัน จะมีปริมาณสารเหล่านี้แตกต่างกันหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ รูปที่ 6. ปริมาณสารสำคัญ 4 ชนิด ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร 3 ยี่ห้อ ที่ผลิตในครั้งการผลิตที่ต่างกัน เราจะมาดูข้อมูลที่สถาบันฯได้ทำการศึกษาไว้ ดังแสดงในรูปที่ 6 ผลการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญในผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร 3 ยี่ห้อ (brand-01, 04, 05) ที่มีครั้งการผลิตที่แตกต่างกัน พบว่า ปริมาณสาร AP1 มีค่าแตกต่างกันไม่มากนัก ยกเว้น brand-04 lot 14/03/17 ที่มีปริมาณสารนี้น้อยกว่า lot 14/09/15 และ lot 24/02/17 นอกจากนี้ฟ้าทะลายโจร brand-04 ยังมีความแปรปรวนของสาร AP3 อีกด้วย ส่วนฟ้าทะลายโจร brand-01 ก็ตรวจพบความแปรปรวนของสาร AP6 ในครั้งการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งผลที่ได้นี้อาจเนื่องมาจากการปลูกและเก็บเกี่ยวสมุนไพรในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รวมทั้งการจัดการน้ำหรือแสงแดดในการปลูกพืช ทำให้ปริมาณสารสำคัญในพืชมีการเปลี่ยนแปลงไป ถ้าการควบคุมคุณภาพของฟ้าทะลายโจรจะทำเฉพาะการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญที่ต้องการ คือ AP1 เพียงชนิดเดียว โดยไม่มีการควบคุมปริมาณสารอื่น เช่น AP3 ก็อาจทำให้การนำฟ้าทะลายโจรนี้ไปใช้ในการรักษาโรคหวัด มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้ สารสำคัญ AP3 ในฟ้าทะลายโจรนี้ มีทั้งสรรพคุณในการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ และอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่ต้องการในผู้ใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการโรคหวัดได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมปริมาณสารชนิดนี้ ไม่ให้มีปริมาณสูงจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้ ดังนั้น ในโมโนกราฟ (Monograph) ของเภสัชตำรับของประเทศสหรัฐอเมริกา (The United State Pharmacopeia และ the National Formulary – USP35/NF30) ได้มีการกำหนดคำจำกัดความของสารสกัดฟ้าทะลายโจร (Powdered Andrographis Extract) ไว้ว่า เป็นสารสกัดที่เตรียมได้จากการสกัดด้วย methanol หรือแอลกอฮอล์ ที่มีสัดส่วนของวัตถุดิบต่อสารสกัด 15:1 ถึง 10:1 มีปริมาณสาร diterpene lactones 90.0-110.0% ของปริมาณที่ระบุไว้ โดยคำนวณเป็นน้ำหนักแห้งจากผลรวมของสารสำคัญ 4 ชนิด คือ andrographolide, neoandrographolide, 14-deoxy-11, 12-didehydroandrographolide และ andrograpanin และได้กำหนดให้มีปริมาณสาร 14-deoxy-11, 12-didehydroandrographolide หรือ AP3 ไม่เกิน 15% ของปริมาณแลคโตนรวมทั้งหมด (total diterpene lactones) นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยของสถาบันฯยังได้ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของสารสกัดฟ้าทะลายโจรผง (มาตรฐานเลขที่ มอก. 2928-2562) ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ เป็นการกำหนดมาตรฐานของสารสกัดฟ้าทะลายโจรในรูปแบบผงแห้ง (Powdered Andrographis Extract) ที่มีปริมาณสาร andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 โดยน้ำหนักสารสกัด และมีปริมาณสาร 14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide ไม่มากกว่าร้อยละ 15 ของปริมาณสารไดเทอร์พีนแลคโตนรวม ซึ่งสารสกัดฟ้าทะลายโจรผงตามมาตรฐานนี้ ก็จะช่วยให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มีความมั่นใจในการนำไปใช้และมีความปลอดภัยอีกด้วย แล้วผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่เก็บไว้หลายๆ เดือนหรือเป็นปีๆ จะยังมีผลในการรักษาอยู่หรือไม่ สารสำคัญเสื่อมไปหรือไม่ ซึ่งการหาคำตอบนี้ก็คือ การศึกษาความคงตัวของสารสำคัญทั้ง 4 ชนิด ในผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร สถาบันฯได้ทดลองเก็บผงฟ้าทะลายโจรแคปซูล (ผ่านการฉายรังสี) ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4oC เปรียบเทียบกับการเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง แล้วสุ่มมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญที่เวลาต่างๆ เป็นเวลานาน 24 เดือน (2 ปี) ผลที่ได้พบว่า สารที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเก็บฟ้าทะลายโจรแคปซูลไว้นานๆ คือ สาร AP3 ซึ่งจะค่อยๆมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลัง 15 เดือนผ่านไป เมื่อครบ 2 ปี ฟ้าทะลายโจรแคปซูลที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4oC มีปริมาณ AP3 เพิ่มขึ้น 22% ส่วนฟ้าทะลายโจรแคปซูลที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง มีปริมาณ AP3 เพิ่มขึ้นถึง 51% (รูปที่ 7) รูปที่ 7. การเปลี่ยนแปลงสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรแคปซูล (ผงบด) ที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4oC และอุณหภูมิห้องที่ระยะเวลาต่างๆ กัน ผลที่ได้นี้สอดคล้องกับการศึกษาที่สถาบันฯได้ตีพิมพ์ไว้ก่อนหน้านี้ (Pholphana et al., 20041 ใน Phytochemical Analysis) ซึ่งพบว่า ในผงบดแห้งฟ้าทะลายโจรที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง มีการลดลงของสาร AP1 (ลดลงมากถึง 26.1%) และมีการเพิ่มขึ้นของสาร AP3 มากกว่า 50% (หลังเก็บไว้นาน 15 เดือน) ดังนั้นการนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจร (วัตถุดิบ) หรือผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้นานๆมาใช้ อาจจะทำให้มีปริมาณสารสำคัญที่ต้องการฤทธิ์ในการรักษาโรคหวัด เช่น AP1 น้อยลงกว่าที่ต้องการ แต่อาจทำให้ได้รับสารบางชนิด (AP3) เกินความจำเป็น จนเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้เช่นกัน เมื่อเขียนมาถึงตอนนี้ คงทำให้เราได้รู้แล้วว่า การนำฟ้าทะลายโจรมาใช้เป็นยารักษาโรค ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช่สารเคมีสังเคราะห์ ก็ยังต้องมีความระมัดระวัง ไม่ใช่สามารถรับประทานได้พร่ำเพรื่อ เราต้องแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้ได้ผ่านการควบคุมคุณภาพของสารสำคัญที่ดี มีสารออกฤทธิ์ตามที่ต้องการใช้ และมีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่ดีอีกด้วย 2. การพัฒนาวิธีการสกัดและตรวจวิเคราะห์สาร Diterpenoids ในเลือดของอาสาสมัครที่รับประทาน สถาบันฯได้รับความร่วมมือจากโรงงานเภสัชกรรมทหารในการผลิตผงฟ้าทะลายโจรแคปซูล เพื่อใช้ในการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดี และมีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ เมื่อเรามีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีคุณภาพแล้ว เราก็ได้ทำการศึกษาว่า เมื่อรับประทานฟ้าทะลายโจรเข้าสู่ร่างกายแล้ว สารสำคัญเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สถาบันฯได้พัฒนาวิธีการสกัดและตรวจวิเคราะห์สารสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ AP1, AP3, AP4 และ AP6 ในตัวอย่างพลาสม่าที่ได้จากอาสาสมัครสุขภาพดีที่รับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้รักษาอาการหวัด (มื้อละ 4 แคปซูล วันละ 3 เวลา ทุก 8 ชั่วโมง ก่อนอาหาร รวม 12 แคปซูลต่อวัน) ซึ่งปริมาณสารสำคัญที่ได้รับต่อวัน คือ 97.92, 16.20, 10.80 และ 11.52 มิลลิกรัม สำหรับ AP1, AP3, AP4 และ AP6 ตามลำดับ ทำการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญต่างๆโดยใช้เทคนิค LC-MS/MS ซึ่งเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญของฟ้าทะลายโจรในพลาสม่านี้มีค่า LOQ (Limit of quantification) ที่ 2.50 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (สำหรับ AP1) และที่ 1.00 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (สำหรับสารอื่นๆ) สำหรับค่า recovery อยู่ระหว่าง 86.54-111.56 % ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ดังนั้นวิธีการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญจากฟ้าทะลายโจรในเลือดนี้สามารถนำไปใช้ในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (Pharamcokinetic study) ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรได้ (Pholphana et al., 20155; Planta Medica) 3. การศึกษาการแตกตัวและเภสัชจลนศาสตร์ของสาร Diterpenoids ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ในอาสาสมัครสุขภาพดี ก่อนการทดลองทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดี สถาบันฯได้มีการทดสอบการแตกตัวของแคปซูล (Dissolution testing) โดยทำการทดสอบในสารละลายบัฟเฟอร์ pH 1.2, pH 4.5 และ pH 6.8 ที่เป็นการจำลองสภาวะของยาในทางเดินอาหาร ซึ่งผลการทดลองพบว่า แคปซูลฟ้าทะลายโจรแตกตัวได้เร็วและปลดปล่อยสารสำคัญทั้ง 4 ชนิด คือ AP1, AP3, AP4 และ AP6 ออกมาได้ดี (ละลายออกมาหมดภายใน 60 นาที) และที่ pH 6.8 มีปริมาณสารสำคัญสูงที่สุด ส่วนที่ pH 1.2 มีปริมาณสารสำคัญน้อยที่สุด (โดยเฉพาะ AP4) จากนั้นได้ทำการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์โดยให้อาสาสมัครสุขภาพดี เพศหญิงและชาย จำนวน 20 คน รับประทานแคปซูลฟ้าทะลายโจรวันละ 12 แคปซูล (มื้อละ 4 แคปซูล วันละ 3 เวลา ทุก 8 ชั่วโมง ก่อนอาหาร) ติดต่อกัน 3 วัน ผลที่ได้พบว่า ถึงแม้ว่าปริมาณสารที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายสูงสุดจากการรับประทานแคปซูลฟ้าทะลายโจรจะเป็นสาร AP1 ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ตรวจพบมากในฟ้าทะลายโจร แต่ปริมาณสารสำคัญสูงสุดที่ตรวจวิเคราะห์ได้ในพลาสม่า คือ สาร AP3 ซึ่งมีค่าระดับยาในพลาสม่า (maximum concentration; Cmax) และ area under the plasma concentration-time curve (AUC) สูงที่สุด ส่วนสาร AP1 มีค่า Cmax และ AUC รองลงมาเป็นที่ 2 ตามลำดับ ผลการศึกษาที่ได้นี้ จะเห็นได้ว่า การใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคหวัด ที่โดยทั่วไปจะต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีสารสำคัญ AP1 หรือ andrographolide ในปริมาณสูง แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว พบว่า ในร่างกายจะมีปริมาณสาร AP3 สูงกว่า AP1 ซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ว่า สารชนิดนี้มีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ระยะสั้นๆ ดังนั้นอาจจะทำให้ผู้ที่ใช้ฟ้าทะลายโจรนี้เกิดอาการข้างเคียงความดันเลือดลดต่ำลงได้ โดยเฉพาะถ้าใช้ฟ้าทะลายโจรในปริมาณมากๆและติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคมากขึ้น (Pholphana et al., 20166; Journal of Ethnopharmacology) นอกจากนี้ ผลการศึกษาในอาสาสมัครที่ได้รับฟ้าทะลายโจรแคปซูลติดต่อกันนาน 3 วันนี้ ยังตรวจไม่พบความผิดปกติของค่าตรวจวัดทางคลินิกต่างๆ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ความดันเลือด การแข็งตัวของเลือด ผลตรวจเคมีของเลือด ผลตรวจชนิดของเม็ดเลือด และผลตรวจปัสสาวะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ค่าเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในช่วงค่าปกติของคนสุขภาพดีทั่วไป ตัวอย่างเช่น มีการลดลงแบบชั่วคราวของค่าความดันเลือดหลังจากการรับประทานยา การเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวและค่า absolute neutrophil count ในเลือด ค่าความเป็นด่างของปัสสาวะเพิ่มขึ้น ค่า alkaline phosphatase ลดลง แต่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ชนิดร้ายแรงในอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการตลอดการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ (Suriyo et al., 20177; Planta Medica)
ฟ้าทะลายโจรและข้อควรระวังหลังจากที่ฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็ได้มีการเฝ้าระวังการใช้ยาดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศไทย จากฐานข้อมูล Thai Vigibase ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 (ปีแรกที่ได้รับรายงาน) ถึงเดือนสิงหาคม 2554 มีรายงาน adverse events (AEs) จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร 154 ฉบับ เกิด AEs ทั้งสิ้น 199 อาการ อาการที่พบมาก เช่น ผื่นลมพิษ (28) angioedema (20) แน่นหน้าอก (5) anaphylactic shock (3) เป็นต้น (ข่าวสารด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มีนาคม 2559 หน้า 1-7 และหน้า 27-32) โดยอาการส่วนใหญ่เกิดในวันแรกของการได้รับยา นอกจากนี้ในข้อมูล WHO Vigibase สืบค้นถึงปี พ.ศ. 2555 เป็นรายงาน AEs จากการใช้ตำรับเดี่ยวฟ้าทะลายโจร 13 ฉบับจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพบว่ามี anaphylactic reaction 2 ฉบับ และยังมีรายงานจากการใช้ตำรับยาผสม 21 ฉบับ มาจากประเทศออสเตรเลีย 18 ฉบับ และประเทศสวีเดน 3 ฉบับ ซึ่งพบว่าเป็น anaphylactic shock 3 ฉบับ และ anaphylactic reaction 1 ฉบับ ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศออสเตรเลีย Therapeutic Good Administration (TGA) ได้แจ้งเตือนผู้บริโภคและบุคคลากรการแพทย์ถึงความเสี่ยงการเกิดอาการแพ้ (allergic reaction) ชนิดรุนแรง จากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เนื่องจาก ในระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545-2557 TGA ได้รับรายงาน anaphylaxis 43 ฉบับ และ allergic-type reaction 78 ฉบับ ที่สัมพันธ์กับการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของฟ้าทะลายโจรทั้งรูปแบบตำรับยาผสมและยาเดี่ยว TGA ได้แนะนำว่า หากเกิดอาการแพ้ ได้แก่ ผื่นลมพิษ ชาในช่องปากหรือบริเวณโดยรอบ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หน้าบวม หายใจลำบาก ลิ้นบวม บวมในช่องคอเปล่งเสียงลำบาก ไม่รู้สึกตัวและหมดสติ ให้หยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์ สำหรับการใช้ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทย ได้มีการระบุความเสี่ยง ข้อห้าม หรือคำแนะนำ การใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งข้อความนี้ต้องมีการแจ้งเตือนในฉลากหรือเอกสารกำกับยา ดังนี้
เนื่องจากฟ้าทะลายโจรจัดเป็น ‘ยาเย็น’ ตามหลักการแพทย์แผนไทย (ช่วยขับความร้อนออกจากร่างกาย) จึงไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการอ่อนแรงหรือชาได้ และการใช้ยาติดต่อกัน 3 วัน ถ้าไม่เห็นผลหรือมีอาการมากขึ้น อาจบ่งชี้ว่า ฟ้าทะลายโจรใช้ในการรักษาไม่ได้ผล จากรายงานที่มีการเฝ้าระวังการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคนี้ จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าฟ้าทะลายโจรนี้สามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไป และซื้อหาไว้ติดบ้านและรับประทานได้เองเมื่อมีอาการโรคหวัด โดยไม่ต้องมีแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้ แต่การนำมาใช้ก็ควรจำกัดการใช้เท่าที่จำเป็นและคำนึงถึงข้อควรระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาแผนปัจจุบันอื่นๆร่วมด้วย ข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ การเกิดอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร แบบ allergic reaction ที่มีรายงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งอาการข้างเคียงจากการรับประทานยาที่มีสารสำคัญที่ไม่จำเป็นต่อโรคหวัด เช่น AP3 ในปริมาณสูงๆ (การใช้ฟ้าทะลายโจรที่เก็บไว้นานๆ หรือฟ้าทะลายโจรที่มีสาร AP3 สูง) ก็อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด ความดันเลือดต่ำได้ การมีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรติดบ้านไว้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นสมุนไพรที่มีงานวิจัยทั่วโลกรองรับมากมาย เป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับ ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรมีรายได้ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งจะต้องมีการควบคุมคุณภาพของฟ้าทะลายโจร โดยมีการควบคุมดูแลตั้งแต่การปลูกสมุนไพร การเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้มีสารออกฤทธิ์ที่ต้องการสูงและมีสารอื่นๆที่ไม่ต้องการต่ำๆ ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดแมลงหรือโลหะหนัก รวมทั้งไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ มีการเก็บรักษาทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ดี ไม่นำเอาสมุนไพรเก่าที่เก็บไว้นานมาใช้ ขบวนการผลิตยาสมุนไพรได้มาตรฐาน มีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (finished products) และศึกษาความคงตัวของสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตสามารถช่วยกันทำให้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเหล่านี้มีคุณภาพในการรักษาโรคได้ สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลในบทความนี้คงจะมีประโยชน์ต่อการนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาใช้ในการศึกษากับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่มากก็น้อย และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคที่อยากซื้อหาฟ้าทะลายโจรมาไว้ติดบ้าน เพื่อรับประทานในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือใช้ในการป้องกันหรือรักษาอาการโรคหวัด ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในทางยาหลายชนิด ทำให้ยากต่อการควบคุมขนาดของยาให้ได้สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ตามต้องการ ไม่ได้มีเพียงสารเดี่ยวๆ เหมือนยาแผนปัจจุบันที่สามารถควบคุมหรือปรับขนาดยาได้ง่าย ดังนั้นจึงควรใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรอย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดในการรักษาโรค และมีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงจากการใช้ฟ้าทะลายโจรน้อยที่สุดด้วย
เอกสารอ้างอิง
——————————– ที่มา : http://eht.cri.or.th/article/2314
|