การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน มีพิษต่อตับหรือไม่?

               ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลต่อความกังวลต่อสุขภาพของประชาชนไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการแพร่ระบาดนี้ มีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยากที่จะควบคุมได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะนำฟ้าทะลายโจรอันเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน มาใช้ประโยชน์ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการใช้ฟ้าทะลายโจร หรือสารสกัดฟ้าทะลายโจร ยังคงเป็นประเด็นในสื่อสังคมและสื่อออนไลน์อย่างมากมาย ทั้งในแง่ความปลอดภัย และขนาดการใช้ หรือความเหมาะสมที่จะใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อการป้องกัน หรือบรรเทาอาการ ร่วมกับการได้รับการรักษาในแนวทางอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งนี้เมื่อพิจารณาการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งมีคำแนะนำในการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน (แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง) ติดต่อกัน 5 วัน โดยมุ่งหวังให้ใช้ในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย และลดโอกาสการเกิดโรคที่รุนแรงมากขึ้น

                ทั้งนี้เนื่องจากคำแนะนำนี้ให้รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณที่สูงกว่าการใช้บรรเทารักษาอาการไข้หวัดหรืออาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นถึง 3 เท่า จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวันนี้ ส่งผลต่อภาวะความผิดปกติของการทำงานของตับและไตหรือไม่นั้น ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำการสืบค้นข้อมูล ถึงความเป็นไปได้ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรต่อโอกาสการเกิดความเป็นพิษต่อตับและไต โดยทำการสืบค้นจากฐานข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรวบรวมข้อมูลจากรายงานการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ตลอดจนถึงข้อมูลการศึกษาวิจัยของทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เอง สามารถสรุปได้ดังนี้

    1. จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการศึกษาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราไฟไลด์ มีฤทธิ์ในการป้องกันความเป็นพิษต่อตับของสารพิษหลายชนิด ซึ่งสารพิษเหล่านั้นมีรายงานว่าก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ตับ เช่น สาร carbon tetrachloride (1), thioacetamide (2), paracetamol (3, 4), และแอลกอฮอล์ (5) เป็นต้น จากข้อมูลดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่าฟ้าทะลายโจร และสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ มีฤทธิ์ในการป้องกันความเป็นพิษของสารเคมีหลายชนิดต่อเซลล์ตับได้
    2. รายงานการวิจัยแบบ Meta-analysis ซึ่งทำการวิเคราะห์ความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรจากการรวบรวมอุบัติการณ์การเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของการศึกษาวิจัยทางคลินิก ชนิด randomized control trial (RCT) จำนวน 10 การศึกษาวิจัย ซึ่งใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการไข้หวัด (common cold) อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น (upper-respiratory tract infection ,URTI) อาการท้องเสียซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (non-infective diarrhea) และภาวะแพ้ภูมิต้านทางตนเอง (autoimmune disease) โดยมีจำนวนอาสาสมัครรวมทั้งสิ้น 1,093 ราย (6) โดยจากการวิเคราะห์ตามระยะเวลาการใช้ฟ้าทะลายโจรในช่วงเวลาน้อยกว่าหรือเท่ากับ 14 วัน และช่วงเวลามากกว่า 14 วัน พบอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง (serious adverse events) เท่ากับ 0.01 ราย และ 6.8 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ ส่วนอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรง (non-serious adverse events) คิดเป็น 35.3 ราย และ 264.6 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ โดยหากจะทำการวิเคราะห์ตามปริมาณของสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ คือ รับประทานในขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 120 มิลลิกรัมต่อวัน และรับประทานในขนาดมากกว่า 120 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่า อัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงคิดเป็น 0.1 ราย และ 0.01 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ ส่วนอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรงคิดเป็น 122.7 ราย และ 145.6 รายต่อจำนวนอาสาสมัคร 1,000 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การเกิดผื่นแดง และการเกิดความผิดปกติต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจาก meta-analysis ดังกล่าวนี้ ไม่พบการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือความผิดปกติต่อการทำงานของตับ หรือรายงานความเป็นพิษต่อตับแต่อย่างใด
    3. การศึกษาวิจัยทางคลินิกของการใช้ฟ้าทะลายโจรที่ปริมาณของสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ที่แตกต่างกันในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งมีระยะเวลาของการรับประทานต่อเนื่อง และยาวนานกว่าการใช้รักษาในโรคหวัด พบว่า การศึกษาวิจัยเหล่านี้ ไม่มีรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือความผิดปกติต่อการทำงานของตับ ในอาสาสมัครที่ได้รับฟ้าทะลายโจรในขนาดต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา (ดังแสดงในตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 Clinical bibliographic evidence-based support for safety of Andrographis paniculata extract for other diseases (Not common cold and uncomplicated upper-respiratory tract infection) with a long-term treatment duration (>1 week) (download in pdf format

  1. กาศึกษาทางคลินิกของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ก่อนหน้านี้ ได้มีการศึกษาความปลอดภัยของการรับประทานผงบดละเอียดฟ้าทะลายโจร ที่ทราบปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ที่แน่นอน และในการศึกษานี้อาสาสมัครไทยสุขภาพดี จำนวน 20 คน (ชาย 10 คน และ หญิง 10 คน) จะได้รับสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ในขนาด 97 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 วัน จากการศึกษาพบว่า ค่าดัชนีในพลาสมาที่บ่งชี้ถึง ภาวะการทำงานของตับ อันได้แก่ alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate aminotransferase (AST) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา (12)
  2. การศึกษาในปัจจุบันของทางสถาบันวิจัยฯ กำลังดำเนินการศึกษาถึงความปลอดภัยของการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ในการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นในอาสาสมัครไทยสุขภาพดี จำนวน 12 คน พบว่า ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อการทำงานของตับและไต เมื่อตรวจติดตามค่าดัชนีการบ่งชี้ถึงภาวะของการทำงานตับและไต ภายหลังอาสาสมัครได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งในรูปแบบการรับประทานครั้งเดียว และรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่พบความผิดปกติของ alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate aminotransferase (AST) ทั้งในระหว่างทำการศึกษาวิจัยในวันที่ 4 (ภายหลังรับประทานต่อเนื่องกัน 3 วัน) และเมื่อครบระยะเวลาของการศึกษาวิจัยคือในวันที่ 8 (ภายหลังรับประทานต่อเนื่องกัน 7 วัน) ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน 7 วัน ไม่พบความผิดปกติของตับและไต (ในอาสาสมัครสุขภาพดี) แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาดังกล่าวนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนตัวอย่างของอาสาสมัคร และเป็นการศึกษาที่ทดสอบในอาสาสมัครสุขภาพดี จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงความปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ อันได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการทำงานของตับ และไต รวมถึงควรมีการศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงความปลอดภัยของการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีรายงานว่า อาจทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของตับได้ (13)

สรุป: การใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ ในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 วัน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย ในระหว่างภาวะวิกฤติที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ เมื่อประเมินจากประโยชน์ที่จะได้รับจากการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ร่วมกับการประเมินความเสี่ยงของอาการข้างเคียงต่อตับที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อยนั้น การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรในขนาด และระยะเวลาตามที่แนะนำดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการลดโอกาสการเกิดอาการรุนแรงได้ในผู้ป่วยเริ่มต้นที่ยังมีความรุนแรงของโรคน้อย

เอกสารอ้างอิง

  1. Koh PH, Mokhtar RA, Iqbal M. Andrographis paniculata ameliorates carbon tetrachloride (CCl(4))-dependent hepatic damage and toxicity: diminution of oxidative stress. Redox Rep. 2011;16(3):134-43.
  2. Abdulaziz Bardi D, Halabi MF, Hassandarvish P, Rouhollahi E, Paydar M, Moghadamtousi SZ, et al. Andrographis paniculata leaf extract prevents thioacetamide-induced liver cirrhosis in rats. PLoS One. 2014;9(10):e109424.
  3. Handa SS, Sharma A. Hepatoprotective activity of andrographolide against galactosamine & paracetamol intoxication in rats. Indian J Med Res. 1990;92:284-92.
  4. Visen PK, Shukla B, Patnaik GK, Dhawan BN. Andrographolide protects rat hepatocytes against paracetamol-induced damage. J Ethnopharmacol. 1993;40(2):131-6.
  5. Singha PK, Roy S, Dey S. Protective activity of andrographolide and arabinogalactan proteins from Andrographis paniculata Nees. against ethanol-induced toxicity in mice. J Ethnopharmacol. 2007;111(1):13-21.
  6. Worakunphanich W, Thavorncharoensap M, Youngkong S, Thadanipon K, Thakkinstian A. Safety of Andrographis paniculata: A systematic review and meta-analysis. Pharmacoepidemiol Drug Saf. 2021;30(6):727-39.
  7. Bertoglio JC, Baumgartner M, Palma R, Ciampi E, Carcamo C, Caceres DD, et al. Andrographis paniculata decreases fatigue in patients with relapsing-remitting multiple sclerosis: a 12-month double-blind placebo-controlled pilot study. BMC Neurol. 2016;16:77.
  8. Sandborn WJ, Targan SR, Byers VS, Rutty DA, Mu H, Zhang X, et al. Andrographis paniculata extract (HMPL-004) for active ulcerative colitis. Am J Gastroenterol. 2013;108(1):90-8.
  9. Burgos RA, Hancke JL, Bertoglio JC, Aguirre V, Arriagada S, Calvo M, et al. Efficacy of an Andrographis paniculata composition for the relief of rheumatoid arthritis symptoms: a prospective randomized placebo-controlled trial. Clin Rheumatol. 2009;28(8):931-46.
  10. Calabrese C, Berman SH, Babish JG, Ma X, Shinto L, Dorr M, et al. A phase I trial of andrographolide in HIV positive patients and normal volunteers. Phytother Res. 2000;14(5):333-8.
  11. Agarwal R, Sulaiman SA, Mohamed M. Open label clinical trial to study adverse effects and tolerance to dry powder of the aerial part of Andrographis paniculata in patients type 2 with diabetes mellitus. Malays J Med Sci. 2005;12(1):13-9.
  12. Suriyo T, Pholphana N, Ungtrakul T, Rangkadilok N, Panomvana D, Thiantanawat A, et al. Clinical Parameters following Multiple Oral Dose Administration of a Standardized Andrographis paniculata Capsule in Healthy Thai Subjects. Planta Med. 2017;83(9):778-89.
  13. Baroiu L, Dumitru C, Iancu A, Lese AC, Draganescu M, Baroiu N, et al. COVID-19 impact on the liver. World J Clin Cases. 2021;9(16):3814-25.

——————————–

ที่มา : http://eht.cri.or.th/article/2446